เศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ - เศรษฐกิจเพื่อสังคม (SOCIAL ECONOMY)
Coffee Taste Magazine issue 12
ในยุคหนึ่ง “ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม” ที่มุ่งหาผลกำไรคือระบบเศรษฐกิจที่เหล่านายทุนหรือบรรดานักธุรกิจเจ้าของกิจการทั้งหลายให้ความสำคัญ เมื่อเจ้าของกิจการต่างมุ่งหากำไรที่เป็นตัวเงินอย่างมุ่งมั่น ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงเริ่มเกิดและเห็นชัดขึ้น กลายเป็นต้นตอของปัญหาน้อยใหญ่โดยที่เราไม่รู้ตัว กำไรคือเม็ดเงินที่พึงพอใจและกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ตามมาในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี
หน่วยงานภาคเอกชนจึงเริ่มให้ความสนใจและความสำคัญในเรื่อง ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ มากขึ้น เราจึงได้ยินคำว่า CSR (CSR -Corporate Social Responsibility) หรือแนวคิดการทำกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมบ่อยขึ้นในยุคต่อมา เห็นภาพของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ยังไม่ถูกแก้ไขได้อย่างสิ้นเชิง จึงเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ให้เป็นเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) เพื่อผลกำไรอันหมายถึงความสุขที่ยั่งยืน
กำไร คือ ความสุขของสังคม
ชั่วโมงนี้เราอาจได้ยินคำว่า “ความสุขที่ยั่งยืน” มากขึ้นจากสื่อประชาสัมพันธ์หรือบทความต่างๆ อาจเป็นผลพวงของการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ คือ เศรษฐกิจเพื่อสังคม หรือ Social Economy ที่ยังคงมุ่งเน้นผลกำไรเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ความหมายของ ‘กำไร’ นั้นยังรวมถึง ‘ความสุข’ ของสังคมที่แท้จริงและยั่งยืน
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงหมายถึงองค์กรที่มุ่งแสวงหากำไร และผลกำไรนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหรือมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการมีส่วนร่วมของชุมชน สิ่งที่ได้มาจึงมีทั้งผลกำไรเป็นเม็ดเงินและกำไรที่เป็นความสุขกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม
ระบบเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) จึงช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ
ทั้งนี้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่ได้หมายความเพียงองค์กรการกุศล แต่ทุกๆ ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องก็สามารถทำกำไรพร้อมกับการพัฒนาสังคมได้ เช่น ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าที่เลือกใช้ผ้าทอมือจากชุมชน ร้านอาหารที่เลือกใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษซึ่งปลูกโดยชาวบ้านในชุมชน ฯลฯ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ช่วยให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ รักษาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนของสังคมในอนาคต
และจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เริ่มนำเอา ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ธุรกิจที่คำนึงถึงความสุขของชุมชนจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังมาแรง