ประเพณีเดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก
ใส่ขันดอก บูชาเสาอินทขิล
HALLO CHIANGMAI Magazine
ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวเชียงใหม่มีประเพณีสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน ด้วยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณของบรรพบุรุษจะช่วยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ตลอดจนเพื่อความสงบเรียบร้อยและมั่งคั่งของชาวบ้านชาวเมือง ซึ่งจะถือปฏิบัติกันในวันแรม 13 ค่ำเดือน 8 เหนือ กระทั่งถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือเรียกกันว่า “เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก” เพื่อบูชา “เสาอินทขิล” หรือเสาหลักเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่
ในการบูชาเสาอินทขิลนั้นชาวบ้านชาวเมืองจะนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการะ เรียกว่าการใส่ขันดอกไม้หรือใส่บาตรดอกไม้เพื่อบูชาเสาอินทขิล โดยจะมีทั้งหมด 28 พานใหญ่หมายถึงการบูชาพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ และยังมีขันดอกไม้บูชาท้าวทั้งสี่ คือ ท้าวจตุโลกบาลอีก 1 แห่ง บูชารอบเสาอินทขิล 8 แห่ง บูชาพระฤาษี 1 แห่ง บูชาตาปะขาวลั้วะ 1 แห่ง บูชาต้นไม้ยาง 1 แห่ง บูชากุมภัณฑ์ 2 ตน ตนละแห่ง บูชาพระสังกัจจาย 2 แห่ง และบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง 1 แห่ง
หลังจากใส่บาตรดอกไม้แล้วชาวบ้านก็จะไปสรงน้ำ “พระเจ้าฝนแสนห่า” พระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย แบบสิงห์ 2 ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพวกแต้ม โดยชาวเชียงใหม่เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ บริเวณวงเวียนหน้าพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง ตลอดพิธีเข้าอินทขิล เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการบูชา
อีกทั้งตลอดระยะเวลา 7 วันของประเพณีใส่ขันดอกจะมีการฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ เพื่อเป็นการสังเวยเทพยดาอารักษ์ "ผีเสื้อบ้าน" และ "ผีเสื้อเมือง" หรือที่ภาษาเหนือโบราณเรียกกันว่า "เจนบ้าน เจนเมือง" การแสดงซอพื้นเมืองและการละเล่นพื้นเมืองสมโภชบูชาตลอดงาน
ตำนานความเชื่อ
คำบอกเล่าหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นมาของเสาอินทขิลและการบูชาปรากฏในตำนานอินทขีล หรือ ตำนานสุวรรณคำแดง ไว้ว่า แต่เดิมเมืองเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนานั้นเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติทำให้ชาวเมืองเดือดร้อน ไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยาก ยากจน พระอินทร์จึงได้บันดาลบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลแบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อ บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะจะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ หากอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดีทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่มีความสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
เมื่อข่าวนี้เลื่องลือออกไปทำให้เมืองอื่นต่างพากันยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขีล หรือ เสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์มาก ดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า ชาวลัวะจึงแนะนำให้พ่อค้าเหล่านั้นถือศีลรักษาคำสัตย์ อย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ดังที่ขอ บางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตนที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธและพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง
ชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งซึ่งหมั่นบูชาเสาอินทขิลอยู่เสมอ เมื่อทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาวบำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานาน 3 ปี ต่อมามีพระเถระรูปหนึ่งผู้มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้า ได้มาบอกชาวลั๊วะผู้เฒ่าท่านนี้ว่า ต่อไปในภายภาคหน้าบ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยีถึงกาลวิบัติล่มจม ชาวลัวะจึงเกิดความกลัวและขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระจึงให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่แล้วใส่รูปปั้นคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาลงไปในกระทะ จากนั้นนำไปฝังในหลุมแล้วทำเสาอินทขิลไว้เบื้องบนและทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ จึงทำให้เกิดพิธีบวงสรวงสักการะเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
ข้อมูล : www.sahavicha.com, www.chiangmainews.co.th, oknation.nationtv.tv