HERB BASICS
BEAUTIFUL PRODUCT FROM NORTHERN THAILAND
HALLO CHIANGMAI Magazine
ดร เกษรสมบัติ
ผู้บริหาร บริษัท เฮิร์บ เบสิคส์ จำกัด
ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2544 ที่ทางรัฐบาลไทยได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ OTOP หรือ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายในท้องถิ่นแต่ละตำบล โดยถอดแบบมาจากแนวคิด One Village, One Product (OVOP) ของเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในแต่ละชุมชน เราจึงได้เห็นสินค้าโอท็อปจำพวกผลไม้แปรรูป งานหัตถกรรม งานผ้าฝ้ายและผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ ของใช้ในครัวเรือน อาหาร ฯลฯ ที่ได้รับการสนับสนุนและออกวางจำหน่ายในท้องตลาด หนึ่งในสินค้าเด่นที่เราคุ้นตา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรไทย เป็นประเภทสินค้าที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจและสามารถพัฒนาจนค่อยๆ เติบโตขึ้นในตลาดอย่างน่าสนใจ
เมื่อเรื่องราวของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยเริ่มได้รับความสนใจ ทำให้ชาวไทยเองก็เริ่มหันมามองเห็นความสำคัญของสรรพคุณจากสมุนไพรในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ด้านสมุนไพรและการผลิตสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับสมุนไพร และ Herb Basics ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่ก่อตั้งโดยชาวเชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
“เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวของคุณแม่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ท่านชอบเรื่องสมุนไพร สนใจเรื่องคุณสมบัติการรักษาของสมุนไพรไทยต่างๆ จึงได้ไปเรียนเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ซึ่งในหลักสูตรที่คุณแม่เรียนก็จะมีการสอนเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์สกินแคร์เกือบทุกอย่าง คุณแม่จึงลองทำและนำไปแจกเพื่อนๆ” คุณดร เกษรสมบัติ ผู้บริหาร บริษัท เฮิร์บ เบสิคส์ จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ Herb Basics
จากการทำเพื่อแจกให้เพื่อนๆ ทดลองใช้ สู่การพัฒนาและต่อยอกจนเป็นผลิตภัณฑ์สกินแคร์เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยได้เปิดร้านสาขาแรกที่บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ไม่น้อย พร้อมกับคำติชมและคำแนะนำที่คุณดรนำมาปรับใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
“สมัยนั้นจะมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเขามีความชอบและความสนใจเรื่องสมุนไพร แม้ว่าในช่วงแรกบรรจุพรรณของเรายังไม่ดูดี ทันสมัย แต่เขาก็ให้ความสนใจเข้ามาพูดคุยสอบถาม ข้อดีที่เราได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้ายุโรปคือเราได้รับคำแนะนำมากมาย ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เขาชอบหรือสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร และเราก็ต่อยอดจากคำแนะนำของลูกค้า จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ”
ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐาน
แม้ในยุคนั้นจะมีสินค้าเกี่ยวกับสมุนไพรออกจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ Herb Basics ก็สามารถเติบโตขึ้นได้ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คือการชูโรงกลิ่นหอมของสมุนไพรไทยและสินค้าทุกประเภทต้องสามารถตอบโจทย์พื้นฐานได้
“เช่น โลชั่นของเราต้องสามารถตอบโจทย์เรื่องการดูแลผิวพรรณให้ชุ่มชื้น จึงเป็นที่มาของชื่อ Herb Basics คือเราต้องการตอบโจทย์พื้นฐานทั่วไป ไม่ได้นำเสนอเรื่องสรรพคุณของสมุนไพรที่ซับซ้อนหรือการใช้เทคโนโลยีมากมาย”
ปัจจุบัน Herb Basics ขยายสาขามากมายในเชียงใหม่ ได้แก่ สาขาถนนท่าแพ, สาขากลางเวียง (บริเวณถนนคนเดินวันอาทิตย์), สาขาสนามบินเชียงใหม่, เซ็นทรัล แอร์พอร์ต, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, เมญ่า และยังเดินหน้าขยายสาขาไปกรุงเทพฯ ที่สนามบินดอนเมืองและเอเชียทีค พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออมามากมาย รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยน่าหยิบใช้มากขึ้น
“เรามีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เกือบทุกปี ตัวไหนที่ทำออกมาแล้วขายไม่ดีเราก็ต้องมาพิจารณาดูว่าเพราะอะไร จากนั้นก็ปรับเปลี่ยน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของเราจึงมีการปรับปรุงอยู่ตลอด มีทั้งที่หายไปและมีตัวใหม่เข้ามาแทน ส่วนด้านบรรจุภัณฑ์เราก็มีการปรับปรุงเรื่อยๆ ในทุกๆ ปีเช่นกัน”
นอกจากสินค้าจากสมุนไพรไทยจะถูกสื่อสารให้นักท่องเที่ยวและชาวไทยเองรู้จักมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งข้อดีที่ตามมานั่นก็คือเกษตรกรไทยผู้ปลูกสมุนไพรอันเป็นวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์ ที่จะได้พัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อตลาดรับซื้อที่มั่นคง ส่งผลให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
จากการผลิตในครัวเรือนสู่โรงงานที่ได้มาตรฐาน
ปัจจุบัน Herb Basic ได้ย้ายฐานทัพการผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่ที่สวยงามและกว้างใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับประมาณการผลิตที่มากขึ้นได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมหากมีโอกาสได้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ
“โรงงานใหม่ของเราเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2560 ก่อนหน้านี้เราก็ผลิตอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งค่อนข้างเล็กและเริ่มไม่เพียงพอกับการผลิต จึงย้ายมาที่นี่ และโรงงานแห่งใหม่นี้เราก็ทำถูกต้องตามมาตรฐานของโรงงานทุกอย่าง นอกจากนี้เรายังทำมาตรฐาน GMP สำหรับเครื่องสำอาง เพื่อในอนาคตหากเราได้มีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศจะได้ไม่มีปัญหา และเรายังทำมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิม ให้เขามีความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา”
ความคาดหวังแรกของการสร้างแบรนด์ Herb Basics คือต้องการให้สินค้าทำหน้าที่เป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวเลือกหยิบซื้อ ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ความตั้งใจของตัวเองได้สำเร็จ
“โจทย์ต่อไปของเราคือ เราไม่อยากจำกัดอยู่เพียงตลาดเชียงใหม่ จึงลองไปเปิดที่กรุงเทพฯ เราอยากให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยของเราเป็นตัวเลือกหนึ่งที่นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปเป็นของฝากได้”