top of page

ราชพฤกษ์ต้องลมแล้ง

HALLO CHIANGMAI Magazine

ล้มร้อนพัดมาเมื่อใด ดอกราชพฤกษ์ประจำชาติไทยก็จะเหลืองอร่ามขึ้นเมื่อนั้น...

สีเหลืองของดอกราชพฤกษ์หรือที่มีชื่อเล่นว่าดอกคูณ และที่ชาวเหนือเราเรียกว่า “ดอกลมแล้ง” คือสีสันของฤดูร้อนที่สร้างความชื่นใจให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คล้ายกับเทศกาลดอกซากุระบานของประเทศญี่ปุ่น

ดอกราชพฤกษ์ถูกเสนอให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยเนื่องจากความเหมาะสมในหลายๆ ด้านตั้งแต่ พ.ศ.2495 โดยกรมป่าไม้ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน กระทั่ง พ.ศ.2506 ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และกรมป่าไม้ก็เสนอต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ  

ต่อมา พ.ศ.2530 รัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ให้พวกเราชาวไทยพร้อมใจกันปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น จึงทำให้ต้นราชพฤกษ์แพร่กระจายและเติบโตขึ้นทั่วทั้งประเทศ จนกระทั่ง พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดสัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย สถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย และดอกไม้ประจำชาติไทย คือ ดอกราชพฤกษ์  

ราชพฤกษ์ต้องลมแล้ง: Services
bottom of page