หยิบอดีตออกมาปัดฝุ่น
ด้วยกลยุทธ์แบบ NOSTALGIA MARKETING
Coffee Taste Magazine issue 12
ความคลาสสิกคือความงามอย่างสมบูรณ์แบบที่ไม่ว่าจะเวลาผ่านไปกี่สิบปีผู้คนก็ยังคงหลงใหลในความงดงามนั้น และถวิลหาอยู่บ้างในบางครั้ง การย้อนวันวานสู่อดีตจึงมักจะเต็มไปด้วยความทรงจำอันนำมาซึ่งรอยยิ้มและความประทับใจ และนั่นเองจึงเป็นที่มาของ Nostalgia Marketing การตลาดที่หยิบยกเอาอดีตออกมาปัดฝุ่นให้มัดใจผู้บริโภคอีกครั้ง เราจึงได้เห็นการกลับมาของกล้องฟิล์ม แผ่นเสียง ของเล่นเก่า การแต่งกายแบบวินเทจย้อนยุค ฯลฯ ไปจนถึงการเนรมิตรแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักในแบบย้อนยุค
อาจจะฟังดูย้อนแย้งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น และดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยไป แต่ความเก่าย้อนยุคสุดคลาสสิกก็กลับมีอิทธิพลต่อหลายกลุ่มคน และยังสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยเชื่อมโยงให้ผู้บริโภคร่วมย้อนไปสู่ยุคเก่าได้มากขึ้น
จับเอาเรื่องเด่นออกมาชูโรง
กฎเบื้องต้นของการตลาดแบบ Nostalgia Marketing หรือการคิด Campaign ต่างๆ คือความรู้ความเข้าใจในอดีตที่กำลังจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาและเลือกจับเอาประเด็นที่คิดว่าโดนใจมาเป็นตัวชูโรง เช่น เรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์หรือภาพลักษณ์เก่าๆ ที่เราคุ้นเคย เพื่อสะกิดใจให้เกิดการถวิลหาอดีตอีกครั้ง
ตรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมใส่ใจรายละเอียด
เคล็ดลับข้อสองคือการมองหาความเหมาะสมและสำรวจความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายว่าจะต้องย้อนอดีตไปในยุคใดและจุดเด่นของยุคนั้นคืออะไร พร้อมใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างพิถีพิถัน เช่น หากจะย้อนกลับไปในยุค 70 ต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นสไตล์ Retro สีสันฉุดฉาดสดใส ใช้เพลงแนว Disco แต่งกายด้วยเสื้อผ้ามีสีสันกับกางเกงขาบาน เป็นต้น
เข้าถึงด้วยพลัง Social Media
แน่นอนที่สุดคือไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลัก การใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram LINE@ ฯลฯ จึงสามารถช่วยให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงได้มาก
เชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน
สร้างความเชื่อมโยงของอดีตกับปัจจุบันอย่างตรงใจ หยิบนำเอาภาพจำของจุดเด่นหรือเหตุการณ์สำคัญในอดีต ภาพของการเดินทางสู่ยุคปัจจุบันให้เกิด Brand Royalty และหาจุดเชื่อมโยงเหล่านี้ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายให้พบ เช่น การนำโลโก้และกระป๋องรุ่นเก่าของ Pepsi กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง
เคล็ดลับสำคัญของ Nostalgia Marketing คือการเล่นกับอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความรู้สึกประทับใจอันจะนำมาซึ่งความต้องการเป็นเจ้าของ เพราะความคลาสสิกเช่นนี้อาจหาซื้อไม่ได้อีกต่อไปแล้ว