top of page
DSC04901.JPG

มนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์

HALLO CHIANGMAI Magazine

จังหวัดเชียงใหม่ประกอบด้วยหลายอำเภอและแต่ละอำเภอนั้นเราพบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมากถึง 19 กลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ภายใต้จารีตประเพณีแบบดั้งเดิมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ สิ่งเหล่านี้คือมนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์ที่หากใครได้ลองสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้งแล้วจะพบกับอัตลักษณ์ที่สวยงามน่าหลงใหลของแต่ละชนเผ่า

แหล่งการเรียนรู้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ชุมชนชาวยอง
วัดป่าตาล อำเภอสันกำแพง

เริ่มออกเดินทางตามเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชาเผ่าจากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่า จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่อกิจกรรม “มนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์” โดยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ จุดหมายปลายทางแรกคือ แหล่งการเรียนรู้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ชุมชนชาวยอง ที่ วัดป่าตาล อำเภอสันกำแพง ชุมชนของพี่น้องชาวยองที่อพยพมาจากเมืองยองในรัฐฉานและมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ นอกจากชาวยองจะนำวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมมาด้วยแล้ว ยังได้นำพระพุทธรูปสิงห์ 1 ที่เก่าแก่ งดงาม และศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “พระสิงห์ยอง” มาประดิษฐาน ณ วัดป่าตาลแห่งนี้ด้วย


ศูนย์กลางของชุมชนในสมัยก่อนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่วัด พระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมังคโล เจ้าอาวาสวัดป่าตาล จึงได้ริเริ่มอนุรักษ์และเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของชาวยองมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์จาวยอง และพัฒนาพื้นที่ในวัดให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาวยอง เพื่อนำเสนอและสืบสานอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวยองให้เป็นที่ประจักษ์คงอยู่สืบไป

ด้วยความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของคนในชุมชนและวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาชุมชนชาวยองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงเกิดโครงการท่องเที่ยวชุมชนชาวยองบ้านป่าตาล เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต การแต่งกาย ภาษา อาหารการกิน งานหัตกรรม รวมถึงภูมิปัญญาด้านต่างๆ ซึ่งกำลังก่อร่างสร้างโครงการและคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จให้พวกเราเข้าไปศึกษาได้ในอนาคตอันใกล้

มนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์: Services
DSC04925.JPG

สัมผัสวิถีปกาเกอะญอ
อำเภอกัลยาณิวัฒนา

อำเภอน้องใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นอำเภอเล็กๆ ที่สวยงามไปด้วยป่าเขาและพี่น้องชาวเขาเผ่าม้ง ลีซูหรือลีซอ และปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง โดยมีชาวปกาเกอะญออยู่มากที่สุด

หากพูดถึงอำเภอกัลยาณิวัฒนา หลายคนจะรู้จักชื่อเสียงของบ้านวัดจันทร์หรือป่าสนวัดจันทร์ จุดหมายปลายทางแห่งใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว แต่นอกจากความสวยงามและอุดมของป่าไม้แล้ว ที่นี่ยังมีการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ความเชื่อ ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมอาหาร การแต่งกาย การละเล่นและดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงงานฝีมือที่ชาวบ้านถนัด เช่น การทอผ้า จักสาน การตีมีด การหาสมุนไพร และยังมีเส้นทางตามรอยเสด็จพระราชดำเนินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเส้นทางที่สวยงามให้ได้ชื่นชม พร้อมที่พักแบบโฮมสเตย์ในราคาย่อมเยา

ด้วยความสูงของพื้นที่ทำให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเต็มไปด้วยป่าสนที่มีต้นสนสูงใหญ่ ร่มรื่น และเขียวขจีอยู่เต็มพื้นที่ อำเภอแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ โครงการตามพระราชประสงค์เพื่อการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมและการฟื้นฟูป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ  

แม้การเดินทางจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ถนนหนทางก็สะดวกสบายและเมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาแล้ว ความเหนื่อยจากการเดินทางก็ถูกธรรมชาติพัดพาไปจนสิ้น ให้เราได้มองเห็นความสงบร่มเย็นของชุมชนและจิตใจ

มนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์: Services
DSC05029.JPG

“อยู่ดีกิ๋นหวาน”
ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด

“อยู่ดีกิ๋นหวาน” คำทักทายแบบชาวไตลื้อหรือไทลื้อพร้อมการปะพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยที่มือตามประเพณีไทลื้อที่บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จุดหมายปลายทางสุดท้ายของเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนเผ่าในครั้งนี้

บ้านลวงเหนือเป็นชุมชนชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวไทลื้อในชุมชนต้องการอนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่วัฒนธรรมไทลื้อให้เป็นที่รู้จัก จึงได้จัดเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือขึ้น ประกอบไปด้วยแหล่งการเรียนรู้หลายแห่ง เช่น เสื้อบ้าน สานตำนาน, วัดศรีมุงเมือง, ความเชื่อเฮือนผีหม้อนึ่ง, ข้าวแคบป้าผัน, ตุ๊กตาไม้นายโถ สินค้า OTOP และส่งออกไปยังต่างประเทศ, เฮือนปอกระดาษสา, บ้านสวนเพียงทรัพย์ทองศรี, วิถีเกษตรที่ทุ่งนาฟ้ากว้าง และภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ

การท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือมีให้เลือก 2 โปรแกรม ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน โดยจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของชาวไทลื้ออย่างครบถ้วน หรือหากมีเวลาไม่มากนักก็สามารถเดินทางมาสักการะและชื่นชมความงดงามแบบไทลื้อที่วัดศรีมุงเมือง วัดเก่าแก่ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1954 โดยพระเจ้าสามฝั่งแกน

โครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชาเผ่าจะทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และภูมิปัญญาอันมีค่าของชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้การท่องเที่ยวโดยชุมชนยังก่อให้เกิดการขับเคลื่อนในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

มนต์เสน่ห์แห่งชาติพันธุ์: Services
bottom of page