“เราคือคนเลี้ยงช้าง ช้างคือหัวใจของเรา”
ปางช้างแม่สา
HALLO CHIANGMAI Magazine
“ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล เป็นทั้งพาหนะของพระมหากษัตริย์ กระทั่งถูกบรรจุอยู่บนธงชาติไทยในสมัยแรกเริ่ม แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ประชากรช้างในประเทศไทยรวมถึงในโลกของเรานั้นกลับลดจำนวนลงไปมากอย่างน่าใจหาย
คุณชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ก่อตั้ง “ปางช้างแม่สา” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยในช่วงแรกจะเน้นไปที่การโชว์วิถีชีวิตของช้างและควาญช้าง เช่น การลากซุง ต่อมาได้พัฒนาเป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนาน เช่น ช้างเตะฟุตบอล ช้างวาดรูป พร้อมกับการดูแลอนุรักษ์ รวมถึงขยายพันธุ์ช้างในปาง
“ปัจจุบันปางช้างแม่สามีช้างอยู่ทั้งหมด 79 เชือก เป็นปางแรกที่มีช้าง 3 เจเนอร์เรชั่นอยู่ในปางเดียวกัน ตั้งแต่รุ่นยาย แม่ และลูก เราจึงต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการดูแลและเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสงสัยหรือสนใจ เรามีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่เป็นปางช้างแม่สาเดิม นำเสนอวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนกับช้างในรูปแบบที่เราเคยทำมาตั้งแต่อดีต และเพิ่มเติมในส่วนของเนอสเซอรี่ ให้ได้เรียนรู้วิธีการดูแลช้างแรกเกิดและแม่ช้าง ไปจนถึงโรงเรียนสอนช้างและโรงเรียนควาญช้าง และอีกส่วนหนึ่งคือศูนย์อภิบาลช้างไทย ดูแลช้างชราที่ปลดเกษียณ” คุณกอล์ฟ - พิชกร กัลป์มาพิจิตร รองประธาน บริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของปางช้างแม่สาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเข้ามาในพื้นที่ของปางช้างแม่สา เราจะได้พบกับช้างหลายเชือกที่ออกมาคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อนจะเป็นช่วงของการแสดงโชว์ความสามารถของช้าง ทั้งการเตะฟุตบอล การเล่นดนตรี และการวาดภาพ จากนั้นเราจะได้ชมการอาบน้ำช้าง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงของช้าง
“เราพยายามนำเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาได้เรียนรู้ และตอบทุกข้อสงสัยของทุกคนได้ว่าการเลี้ยงช้างจริงๆ นั้นมันมีอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น หลายคนสงสัยว่าเรามีการทรมานช้างหรือเปล่า การฝึกช้างเป็นอย่างไร เพราะกระแสเรื่องการอนุรักษ์นั้นค่อนข้างรุนแรง เราเองในฐานะของผู้ประกอบกิจการและมีความรับผิดชอบในส่วนนี้จึงต้องนำเสนอความเป็นจริงที่สามารถตอบคำถามได้ว่าเหตุผลของการทำแบบนี้คืออะไร หลายคนตั้งคำถามว่าการขี่ช้างคือการทรมานช้างไหม ช้างจะหนักไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความรู้สึก แต่เราจะต้องตอบด้วยความเป็นจริงว่าปกติแล้วช้างสามารถรับน้ำหนักได้มากแค่ไหน ทำไมต้องหากิจกรรมให้ช้างทำ เพราะช้างต้องมีการออกกำลังกาย พยายามนำเสนอข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้ทุกคนได้เข้าใจ”
แม่สาเนอสเซอรี่
อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้การโชว์ช้างนั่นก็คือส่วนของเนอสเซอรี่ ที่อยู่ของแม่ช้างและลูกช้างแรกเกิด ที่นี่เราจะได้เรียนรู้กิจกรรมการดูแลลูกช้างและแม่ช้างที่ถูกต้อง การทำของเล่นช้าง ไอศกรีมสำหรับลูกช้าง อาหารเสริมของแม่ช้าง รวมถึงโปรแกรมสำหรับผู้ที่อยากลองเป็นควาญช้างด้วย และเนื่องจากลูกช้างแรกเกิดก็คล้ายกับเด็กแรกเกิด การสัมผัสและเล่นกับช้างจึงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้มากนัก ในส่วนนี้จึงเน้นหนักไปที่การดูแลลูกช้างมากกว่าเล่นกับลูกช้าง
“พอลูกช้างเกิดมาแล้วเราทำอย่างไรต่อ เราจะนำช้างไปปล่อยในป่าได้ไหม เพราะหลายคนคิดว่าช้างต้องอยู่ในป่า แต่ช้างที่เรามีในปัจจุบันนั้นเป็นช้างบ้านที่เกิดในปางทั้งหมด หากให้เขาไปอยู่ป่า เขาจะไม่สามารถอยู่ได้ เขาจะบุกรุกพื้นที่ไร่นาเพื่อหาอาหาร แม้กระทั่งช้างป่าเองก็ยังทำ เราไม่อยากให้เกิดปัญหาเหล่านี้ เพราะช้างกับคนไทยต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้
หากต้องการเรียนรู้วิธีการดูแลช้างแรกเกิดก็มาที่เนอสเซอรี่ ที่นี่ยังมีการเรียนรู้วิธีการฝึกสอนช้างในเชิงบวก ซึ่งคนจะเข้าใจเพียงว่าการฝึกช้างนั้นต้องทุบตี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ช้างก็เหมือนกับเด็ก ยิ่งเราทุบตีเขาก็ยิ่งไม่เชื่อฟัง เราเชื่อว่าทุกคนที่เลี้ยงสัตว์เขาต้องมีใจรักสัตว์ เช่นเดียวกับควาญช้าง ซึ่งเขารักช้างของเขาทุกเชือก”
ช้างชรา
ส่วนสุดท้ายคือศูนย์อภิบาลช้าง ที่อยู่ของช้างชราที่ปลดเกษียณ เพื่อดูแลบั้นปลายชีวิตให้ช้างไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและมีความสุข โดยจะมีโปรแกรมการดูแลช้างชราให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ เช่น การทำหญ้าบด การป้อนอาหารช้างชรา ดูสุสานช้าง การทำอาหารเสริมจากสมุนไพร และการอาบน้ำช้าง
“เรานำภูมิปัญญาในอดีตมาผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ ที่ปางช้างแม่สาเราดูแลช้างเป็นอย่างดีจนสัตวแพทย์ประจำปางช้างแทบไม่ต้องรักษาอาการป่วย เพราะเรามีการดูแลก่อนที่จะเกิดปัญหา ทำไมเราต้องบดหญ้าให้ละเอียดก่อนให้ช้างชรากิน ก็เพื่อให้เขาย่อยได้ง่ายขึ้น เป็นต้น เราก็นำสิ่งเหล่านี้มาจัดเป็นสัดส่วนและนำเสนออกไปให้ทุกคนได้ทราบว่าวิธีการดูแลช้างในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และผมเชื่อว่าต่อไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ความเข้าใจของคนเกี่ยวกับช้างและปางช้างจะดีขึ้น
มันไม่ได้มีเพียงปัญหาการลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางาเท่านั้น แต่มันยังมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เช่น ไวรัสบางชนิดที่หากเกิดกับลูกช้างจะทำให้ลูกช้างตาย ซึ่งช้างในบ้านเราตายเพราะไวรัสนี้ไม่น้อยเลย หรือเรื่องอาการท้องอืดของช้าง ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ช้างล้ม เราจึงต้องมีการจัดการเรื่องอาหาร เป็นต้น ดังนั้นเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับช้างนั้นมีอะไรให้ทำอีกเยอะมาก เราจึงต้องช่วยกัน
สิ่งที่พวกเราทุกคนทำคือการนำเสนอข้อมูลในอีกหลายๆ ด้านที่หลายคนไม่รู้ เราพยายามทำให้การมาเที่ยวปางช้างแม่สาเกิดองค์ความรู้กับนักท่องเที่ยวทุกคน ให้คนสนใจช้างมากขึ้น และในอนาคตจะเกิดการพัฒนาร่วมกัน เพื่อปางช้างและช้างทั่วประเทศ”